RSS

การติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง

11 ก.ย.

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึง 7.6 ล้านคนต่อปีและมีแนวโน้มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งคาดการณ์ว่าหากยังไม่มีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจะพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึง 17 ล้านคนในปี พ.ศ. 2573 การป้องกันโรคมะเร็งจึงเป็นสิ่งสำคัญ มีการศึกษาวิจัยพบว่าประมาณร้อยละ 40 ของโรคมะเร็งทั้งหมดเชื่อว่าสามารถป้องกันได้1 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) และสหภาพต่อต้านโรคมะเร็งระหว่างประเทศ (International Union Against Cancer, UICC) ได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) โดยมีองค์กรกว่า 300 องค์กรใน 100 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อรณรงค์ต่อต้านและป้องกันโรคมะเร็ง โดยในแต่ละปี UICC จะมีการกำหนดหัวข้อในการรณรงค์ที่แตกต่างกันออกไป และในปี พ.ศ. 2553 นี้มีสโลแกนว่า “cancer can be prevented too” 2 หรือ “มะเร็งป้องกันได้” โดยจะเน้นความสำคัญไปที่การป้องกันโรคมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ (preventing cancer caused by infections) เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ เป็นต้น ซึ่งโรคมะเร็งเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งบางชนิดสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน นอกจากไวรัสที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งดังกล่าวแล้ว ในประเทศไทยยังพบว่าแบคทีเรียและพยาธิก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งจะกล่าวสรุปต่อไปในบทความนี้

Human Papillomavirus (HPV) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งสามารถติดต่อได้ โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์สตรีและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในสตรีไทย โดยพบว่าหลังจากเป็นโรคนี้ผู้ป่วยจะเสียชีวิต

ประมาณครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 7 รายต่อวันในประชากรไทย โดยเชื้อดังกล่าวมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้แก่ เชื้อ HPV ชนิดที่ 16, 18, 31, 33, 35 และ 45 และพบว่าผู้ที่ติดเชื้อบางรายเท่า
นั้นที่จะมีการดำเนินโรคไปเป็นมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นในปัจจุบันมีวิวัฒนาการในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ การตรวจทางเซลล์วิทยาเพื่อหากลุ่มเสี่ยงและรักษาความผิดปกติก่อนการกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก และมีการคิดค้นวัคซีน HPV เพื่อป้องกันการติดเชื้อซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึงร้อยละ 70 อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนดังกล่าวไม่สามารถใช้ทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ และไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อและรอยโรคที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์อื่นที่ไม่มีในวัคซีนได้ ดังนั้นถึงแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้วก็ยังคงต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ3

Hepatitis B Virus (HBV) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดบี ทางติดต่อที่สำคัญคือการได้รับเชื้อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด ไวรัสตับอักเสบชนิดบีสามารถติดต่อกันได้ทางเลือดและน้ำคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกายหรือเยื่อบุต่างๆ ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มหรือหลอดฉีดยาร่วมกัน ผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่วัยเด็กจะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมีความสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อไปให้ผู้อื่น ผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้ไม่มีอาการที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด ทำให้ไม่ทราบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีอยู่ในร่างกาย ผู้ป่วยเพียงน้อยรายเท่านั้นที่จะแสดงอาการของโรค เช่น มีไข้ร่วมกับอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง คลื่นไส้ ปวดชายโครงขวา ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์ มีส่วนน้อยที่กลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองหรือที่คนทั่วไปเรียกว่าเป็นโรคดีซ่านและการปล่อยให้ตับอักเสบเรื้อรังจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด4 ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้และเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กไทยโดยเด็กที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาจะได้รับการฉีดวัคซีนชนิดนี้

Hepatitis C Virus (HCV) แต่เดิมเรียกว่าไวรัสตับอักเสบชนิดไม่ใช่เอ-ไม่ใช่บี การติดเชื้อชนิดนี้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดซี  สามารถติดต่อกันได้คล้ายกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ คือ ผู้ป่วยโรคไตที่ต้องรับการฟอกเลือด ผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย ผู้ที่ได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือดก่อนปี ค.ศ. 1990 และผู้ติดยาเสพติดที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน จากการศึกษาพบว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซีร้อยละ 90 มีสาเหตุมาจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน5 ไวรัสตับอักเสบชนิดซีนับเป็นภัยเงียบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ ไม่มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ส่วนใหญ่มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพทั่วไป เนื่องจากตรวจพบการทำงานที่ผิดปกติของตับ และเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับการป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดซี ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด คือ พยายามหลีกเลี่ยงการได้รับเลือด หรือผลิตภัณฑ์ของเลือดโดยไม่จำเป็น หรือการสัก การเจาะ การใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้มาตรฐาน

Epstein-Barr virus (EBV) เป็นไวรัสในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดงูสวัดและเริม  พบว่าเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่มีการติดเชื้ออยู่ในประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 90 สามารถติดต่อกันทางน้ำลาย เช่นการจูบ การใช้แปรงสีฟันหรือช้อนส้อมร่วมกัน มักพบการติดเชื้อในช่วงวัยเด็ก ซึ่งมักไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเหมือนไข้หวัด เช่น เป็นไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งอาการจะหายไปภายในเวลา 1-2 เดือน การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Burkitt’s lymphoma และมะเร็งโพรงหลังจมูก6 อย่างไรก็ตามการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ใช่เป็นสาเหตุเดียวในการเกิดโรคมะเร็ง ต้องมีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วยจึงจะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้

Helicobacter pylori (H. pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังหรือโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น เชื่อว่าติดต่อโดยการรับประทานอาหารและน้ำ เชื้อจะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและฝังตัวที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร องค์กร International Agency for Research on Cancer (IARC) จัดให้ H. pylori เป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในคนได้ 7 มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นตรงบริเวณเยื่อบุภายในโพรงกระเพาะอาหาร มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบในชาวเอเซียมากกว่าชาวตะวันตก ระยะแรกเริ่มไม่มีอาการผิดปกติ สังเกตเห็นได้ก็ต่อเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น โดยจะมีอาการปวดท้อง รู้สึกหิวง่าย อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แน่นท้องตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือเหนือสะดือแบบเดียวกับโรคกระเพาะ ซึ่งในช่วงแรกกินยารักษาโรคกระเพาะอาหารก็จะทุเลาได้จนผู้ป่วยคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะธรรมดา ปล่อยไว้จนต่อมากินยารักษากระเพาะไม่ได้ผล และอาจมีอาการที่รุนแรงเพิ่มเติมตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ

 Opisthorchis viverrini หรือพยาธิใบไม้ตับ เป็นพยาธิใบไม้ชนิดหนึ่งที่ตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในท่อน้ำดีของคน สุนัข และแมว ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิชนิดนี้จะเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ พยาธิชนิดนี้มีความสำคัญทางสาธารณสุขมากกว่าพยาธิชนิดอื่น เนื่องจากเป็นพยาธิที่ก่อให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี7 การติดเชื้อเกิดจากการรับประทานปลาน้ำจืดดิบที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิ โดยตัวอ่อนจะเคลื่อนจากลำไส้เข้าสู่ท่อน้ำดีและพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในท่อน้ำดี พยาธิสภาพส่วนใหญ่เกิดจากการที่พยาธิตัวเต็มวัยดูดเกาะผนังของท่อน้ำดีและเคลื่อนที่ไปมาทำให้เกิดการระคายเคืองขึ้นในท่อทางเดินน้ำดีอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งพบมากในเพศชายโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาการของโรคได้แก่ ปวดท้องที่ชายโครงขวา ส่วนใหญ่จะมีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดร่วมด้วย ตรวจร่างกายมักพบตับโต อาการตัวเหลืองตาเหลืองซึ่งเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำดี มีผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดจะมีอัตราการอยู่รอดเฉลี่ยไม่ถึง 1 ปี การป้องกันพยาธิชนิดนี้ทำได้ง่ายเพียงแค่ไม่รับประทานของสุกๆดิบๆ เท่านั้น

จะเห็นได้ว่าเชื้อไวรัส แบคทีเรียและพยาธิ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งจัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและตั้งอยู่ในภูมิภาคแถบร้อนชื้นซึ่งการติดเชื้อเป็นปัญหาที่สำคัญที่ทำให้อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งสูง ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ประชาชนห่างไกลจากโรคได้

 เอกสารอ้างอิง

  1. 2010 Campaign: “Cancer can be prevented too”. Available at: http://www.worldcancercampaign.org. AccessedJanuary 10, 2010.
  2. 2010 Cancer can be prevented too. Available at: http://www.worldcancercampaign.org/index.php? option=com_content&task=view&id=448&Itemid=815. AccessedJanuary 10, 2010.
  3. Human papillomavirus. Available at: http://www.who.int/vaccine_research/diseases/viral_cancers/en/ index3.html. AccessedJanuary 12, 2010.
  4. Hepatitis B. World Health Organization. Available at: http://www.who.int/mediacentre/factsheets /fs204/ en/index.html. AccessedJanuary 12, 2010.
  5. Hepatitis C. Available at: http://www.who.int/vaccine_research/diseases/viral_cancers/en/index2. html. AccessedJanuary 12, 2010.
  6. Epstein–Barr virus. Available at: http://www.who.int/vaccine_research/diseases/viral_cancers/en/ index1.html. AccessedJanuary 12, 2010.
  7. Schistosomes, liver flukes and Helicobacter pylori. Available at:  http://monographs.iarc.fr/ENG/ Monographs/vol61/volume61.pdf. AccessedJanuary 15, 2010.
บรรณาธิการ
 
1 ความเห็น

Posted by บน กันยายน 11, 2011 นิ้ว บทบรรณาธิการ

 

ป้ายกำกับ: , , , , , , , ,

1 responses to “การติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง

  1. thaicancerj

    กันยายน 13, 2011 at 9:41 am

    ถ้าสนใจอ่านฉบับเต็ม ตาม link วารสารโรคมะเร็งปีที่ 30 ฉบับที่ 1 ได้นะค่ะ ^_^

     

ใส่ความเห็น